เนื้อสัตว์จากพืช : ทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่

15 พฤศจิกายน 2567

แชร์

images-x images-email

ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้ให้ความใส่ใจแค่เรื่องการกินเพื่อสุขภาพเท่านั้นแต่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย “เนื้อสัตว์จากพืช” หรือ Plant-based Meat จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะให้รสชาติและเนื้อสัมผัสคล้ายกับเนื้อสัตว์จริง แต่ผลิตจากวัตถุดิบจากพืช จึงตอบโจทย์ทั้งความอร่อยและการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

เนื้อสัตว์จากพืชคืออะไร?

เนื้อสัตว์จากพืชที่เราคุ้นชินส่วนใหญ่เป็นโปรตีนเกษตรที่เห็นบ่อยช่วงเทศกาลกินเจ โดยผลิตจากพืชตระกูลถั่วที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วพี ฯลฯ บางครั้งมีการใช้พืชตระกูลข้าวสาลีและข้าวโพด ผ่านกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนและการปรุงแต่งกลิ่นและสี เพื่อเปลี่ยนให้เป็นโปรตีนที่มีเนื้อสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์

ประโยชน์ของเนื้อสัตว์จากพืช

1. ดีต่อสุขภาพ : เนื้อสัตว์จากพืชมีปริมาณไขมันอิ่มตัวและคอเลสเตอรอลต่ำกว่าเนื้อสัตว์จากสัตว์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีสารอาหารที่สำคัญ เช่น ไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุ

2. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: เนื่องจากเนื้อสัตว์จากพืชทำมาจากพืชตระกูลถั่ว ทำให้ใช้ทรัพยากรน้ำและที่ดินน้อยกว่าการผลิตเนื้อสัตว์จากสัตว์ ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ที่เป็นปัจจัยหลักให้เกิดภาวะโลกร้อน

3. ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ : อุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ใช้ที่ดินและน้ำที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตเป็นจำนวนมาก แต่เนื้อสัตว์จากพืชที่ผลิตจากถั่วใช้ทรัพยากรการผลิตน้อยกว่าจึงเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ความท้าทายของเนื้อสัตว์จากพืช

1. การยอมรับของผู้บริโภค : แม้เนื้อสัตว์จากพืชจะมีประโยชน์หลายประการ แต่ยังมีผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังไม่คุ้นเคยและไม่มั่นใจในรสชาติและคุณค่าทางอาหาร ผู้ผลิตต้องทำการตลาดและให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค

2. ราคา : การผลิตเนื้อสัตว์จากพืชยังมีต้นทุนสูง ทำให้ราคาของผลิตภัณฑ์มีราคาสูงเมื่อเทียบราคาต่อหน่วยกับเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตามหากแนวโน้มการพัฒนากระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นอาจช่วยลดต้นทุนในอนาคต

3. ความสามารถในการแข่งขัน : ตลาดเนื้อสัตว์จากพืชยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่อตลาดเนื้อสัตว์ที่ผู้บริโภคคุ้นเคย ผู้ผลิตเนื้อสัตว์จากพืชจึงต้องเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

แนวโน้มและโอกาสในตลาดเนื้อสัตว์จากพืช

1. การเติบโตของตลาด : ตลาดเนื้อสัตว์จากพืชกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรปที่ผู้บริโภคใส่ใจด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในประเทศไทย ตลาดเนื้อสัตว์จากพืชกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

2. การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน : การสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมนวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโปรตีนจากพืช จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนตลาดเนื้อสัตว์จากพืชในประเทศไทย

3. การพัฒนาเทคโนโลยี  : หากเทคโนโลยีการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชสามารถพัฒนารสชาติและเนื้อสัมผัสให้ใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริงมากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ยังลังเลในการลองเปลี่ยนมาบริโภคเนื้อสัตว์จากพืช

เนื้อสัตว์จากพืชเป็นหนึ่งในทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภคยุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงแต่มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ อย่างไรก็ตามการสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์ การลดต้นทุนการผลิต และการพัฒนาคุณภาพของสินค้า ยังคงเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จากพืชในอนาคต

แหล่งที่มาของข้อมูล :

  1. Good Food Institute: Introduction to plant-based meat
    https://gfi-apac.org/science/the-science-of-plant-based-meat/
  2. FAO (Food and Agriculture Organization): สถานภาพทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์ของโลก (ฉบับคัดย่อ) https://www.fao.org/4/a1260th/a1260th00.pdf
  3. EAT-Lancet Commission: Summary Report of the EAT-Lancet Commission https://eatforum.org/content/uploads/2019/07/EAT-Lancet_Commission_Summary_Report.pdf

เรื่องที่คล้ายกัน :

Back to top