อาหารแห่งอนาคต : ความท้าทายและโอกาสใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย
เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้นความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมอาหารก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ไม่เพียงเพื่อสนองความต้องการด้านโภชนาการ แต่เพื่อรับมือกับปัญหาความยั่งยืน ปัญหาสุขภาพ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะทวีความสำคัญมากขึ้น
สำหรับประเทศไทยการพัฒนา “อาหารแห่งอนาคต” กลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะตอบโจทย์ปัญหาเหล่านี้ และยังเป็นโอกาสที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตในระยะยาว
อาหารแห่งอนาคตคืออะไร?
อาหารแห่งอนาคต หรือ Future Food ไม่ได้หมายถึงอาหารอวกาศแบบในภาพยนตร์แต่อย่างใด แต่หมายถึงอาหารทางเลือกที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค และความยั่งยืนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน
ตัวอย่างของอาหารแห่งอนาคต
1. โปรตีนทางเลือก (Alternative Protein) : โปรตีนจากพืชและแมลงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ยั่งยืนของท้องถิ่นทุกพื้นที่ เนื้อสัตว์ที่ผลิตจากการเพาะเลี้ยงเซลล์เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมโปรตีนทางเลือกที่น่าจับตามอง เพราะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
2. อาหารฟังก์ชัน (Functional Food) : เหมาะกับผู้บริโภคที่มีความต้องการด้านสุขภาพเฉพาะเจาะจง เช่น อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ โอเมก้า-3 และโปรไบโอติกส์
3. อาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food) : เน้นการใช้ทรัพยากรการผลิตน้อย ลดของเสีย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โปรตีนจากแมลง พืชน้ำ เช่น ไข่ผำ สาหร่าย ฯลฯ
ความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตในประเทศไทย
1. การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค : พฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้ไม่เพียงใส่ใจในสุขภาพเท่านั้น ยังให้ความสำคัญกับอาหารที่มีประโยชน์ ปลอดภัย สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารได้ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ซึ่งท้าทายให้ผู้ผลิตอาหารต้องปรับตัวตามความต้องการเหล่านี้
2. การพัฒนาเทคโนโลยี : เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ถือว่าเป็นความท้าทายที่ต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากเซลล์และการผลิตโปรตีนทางเลือก
3. มาตรฐานและความปลอดภัยทางอาหาร : การควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัยตามหลักสากลถือเป็นปัจจัยหลักที่ต้องเข้มงวดที่ควรคำนึงถึงเพื่อเป็นมาตรฐานการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตกับตลาดโลก
โอกาสในอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตของประเทศไทย
1. การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอนาคตในภูมิภาค : ประเทศไทยได้เปรียบเรื่องการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์และแรงงานที่มีทักษะสูง มีศักยภาพมากในการพัฒนาอุสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตให้ทันความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศได้
2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะ: วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารแห่งอนาคตให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคเฉพาะ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะภูมิแพ้ และผู้ที่มีข้อจำกัดทางโภชนาการ
3. การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน : อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคตมีความท้าทายและเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทย ภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือสนับสนุนการวิจัยพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี และเงินลงทุนเพื่อพัฒนาให้ประเทศไทยไปไกลกว่าขีดความสามารถเพื่อตอบสนองความต้องการด้านอาหารในอนาคต
ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านการผลิตอาหารที่ยั่งยืน ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามความสำเร็จของอุตสาหกรรมนี้ขึ้นอยู่กับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการสนับสนุนการวิจัย เทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันและอนาคต
แหล่งที่มาของข้อมูล :
- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์: 4 แนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562-2570)
https://www.industry.go.th/th/industrial-economy/10545 - สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม: วารสารกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ปีที่ 63 ฉบับเดือนมีนาคม - เมษายน 2564 https://e-journal.dip.go.th/dip/images/ejournal/75114a8506de6348c0a02459f545462f.pdf
- Food and Agriculture Organization (FAO): The Future of Food and Agriculture - Trends and Challenges https://openknowledge.fao.org/server/api/core/bitstreams/2e90c833-8e84-46f2-a675-ea2d7afa4e24/content