อาหารฟังก์ชัน : นวัตกรรมใหม่ที่เชื่อมโยงสุขภาพและโภชนาการ
“อาหารฟังก์ชัน” หรือ “Functional Food” อาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่ถ้าบอกว่า ผลิตภัณฑ์อย่างนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตเป็นหนึ่งในนวัตกรรมอาหารฟังก์ชัน หลายคนคงเข้าใจมากขึ้น อาหารฟังก์ชั่นจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหารที่ให้พลังงานและสารอาหารเพียงเท่านั้น แต่ยังมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในการส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้อีกด้วย
อาหารฟังก์ชันคืออะไร ?
ผลิตภัณฑ์อาหารที่เมื่อบริโภคเข้าสู่ร่างกายแล้วจะสามารถทำหน้าที่อื่น ๆ ให้กับร่างกาย นอกเหนือจากความอิ่มและรสสัมผัส (ความอร่อย) ให้คุณค่าทางอาหารที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ทั้งในด้านการปรับปรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบและสภาพการทำงานของร่างกาย ชะลอการเสื่อมโทรมของอวัยวะต่าง ๆ บำบัดหรือลดอาการของโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย โดยสามารถแบ่งเป็น
1. กลุ่มอาหารที่มีการแต่งเติมสารอาหารหรือลดสารอาหารที่เป็นประโยชน์น้อยเพื่อให้มีผลต่อการสร้างเสริมสุขภาพ สามารถบริโภคเป็นอาหารประจำวันโดยไม่มีข้อจำกัดเหมือนยา (ไม่อยู่ในรูปแคปซูลหรือผง) เช่น อาหารและเครื่องดื่มที่เสริมด้วยวิตามินหรือแร่ธาตุต่าง ๆ ไข่ไก่เสริมโอเมก้า-3 นมผงผสมสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารก รวมถึงอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรจำพวกโสม เห็ดต่าง ๆ
2. กลุ่มอาหารที่แปรรูปจากวัตถุดิบธรรมชาติที่มีคุณสมบัติเฉพาะที่ส่งผลดีต่อร่างกาย เช่น ถั่วเหลือง กระเทียม มะเขือเทศ โยเกิร์ต โดยไม่ได้เพิ่มหรือลดสารอาหารอื่น ๆ
ตัวอย่างของอาหารฟังก์ชัน
1. โยเกิร์ตและอาหารหมัก : โยเกิร์ตและผลิตภัณฑ์หมัก เช่น กิมจิ มิโซะ เทมเป้ อุดมไปด้วยโพรไบโอติกส์ที่มีประโยชน์ต่อระบบย่อยอาหาร ช่วยปรับสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ และส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน
2. ผลิตภัณฑ์เสริมใยอาหาร : อาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ข้าวโอ๊ต และถั่ว เป็นอาหารฟังก์ชันที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ลดระดับคอเลสเตอรอล และส่งเสริมการทำงานของระบบทางเดินอาหาร
3. น้ำมันปลาและผลิตภัณฑ์จากปลาทะเล : อาหารฟังก์ชันที่อุดมไปด้วยโอเมก้า-3 ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงช่วยส่งเสริมสุขภาพสมองและการทำงานของระบบประสาท
4. ชาเขียว : ชาเขียวเป็นแหล่งของโพลีฟีนอลสารต้านอนุมูลอิสระช่วยลดการอักเสบในร่างกาย และลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
ประโยชน์ของอาหารฟังก์ชัน
1. ส่งเสริมสุขภาพในระยะยาว : อาหารฟังก์ชันช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังช่วยปรับสมดุลในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบย่อยอาหารและระบบประสาท
2. เสริมการทำงานของร่างกาย : อาหารฟังก์ชันที่มีโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ช่วยในการเสริมสร้างแบคทีเรียที่ดีในลำไส้ ช่วยส่งเสริมการย่อยอาหาร ลดอาการท้องอืดและท้องเสีย ทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ดีขึ้น
3. ลดความเสี่ยงของโรคเรื้อรัง : สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในอาหารฟังก์ชันช่วยปกป้องเซลล์จากการถูกทำลายและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง
4. ปรับปรุงสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ : อาหารฟังก์ชันบางประเภทมีส่วนประกอบที่ช่วยส่งเสริมการทำงานของสมอง เช่น โอเมก้า 3 และ DHA ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมองและความจำช่วยลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ
ความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชัน
1. การวิจัยและการพัฒนา : การพัฒนาอาหารฟังก์ชันที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ และการประกันความปลอดภัยของผู้บริโภค
2. การยอมรับของผู้บริโภค : ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจไม่คุ้นเคยหรือไม่มั่นใจในอาหารฟังก์ชัน ดังนั้นการสร้างความรู้และความเข้าใจในประโยชน์ของอาหารเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ
3. กฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัย : อาหารฟังก์ชันจำเป็นต้องได้รับการรับรองจากหน่วยงานด้านอาหาร เช่น องค์การอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานสากล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง
แนวโน้มของอาหารฟังก์ชันในอนาคต
1. การเจริญเติบโตของตลาด : อาหารฟังก์ชันเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น และต้องการอาหารที่ไม่เพียงแต่ให้อิ่มท้องแต่ยังเสริมสร้างสุขภาพในระยะยาว
2. นวัตกรรมทางเทคโนโลยี : การพัฒนาเทคโนโลยีทางอาหารช่วยให้สามารถผลิตอาหารฟังก์ชันที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเสริมสารอาหารที่จำเป็นหรือสารประกอบที่มีคุณสมบัติเฉพาะต่อการส่งเสริมสุขภาพ
3. การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน : การสนับสนุนในด้านนโยบาย การวิจัย และการพัฒนาเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชนจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันให้เติบโตต่อไป
อาหารฟังก์ชันเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผสมผสานความก้าวหน้าทางโภชนาการและสุขภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ที่ต้องการอาหารที่ไม่เพียงแค่ให้อิ่มท้อง แต่ยังช่วยส่งเสริมสุขภาพในระยะยาว ด้วยประโยชน์ที่มากมายและศักยภาพในการเติบโต อาหารฟังก์ชันจึงเป็นหนึ่งในแนวโน้มที่น่าจับตามองในอนาคต
แหล่งที่มาของข้อมูล :
- World Health Organization (WHO): Nutrition https://www.who.int/health-topics/nutrition#tab=tab_1